วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความกตัญญูกตเวที

กตัญญูกตเวที

กตัญญู หมายถึง บุคคลผู้รู้คุณของคนอื่น   กตเวที หมายถึง บุคคลที่ตอบแทนผู้มีคุณแก่ตน ดังนั้น คำว่า กตัญญูกตเวที จึงหมายถึง การรำลึกถึงพระคุณที่เคยให้ความอุปการะแก่เราด้วยความเคารพยิ่ง และทำการตอบแทน บุคคลที่มีคุณและสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เรานั้นมีมากมายเช่น พ่อแม่ เป็นต้น
พ่อ แม่ เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ลูก เลี้ยงดู ป้องกันและรักษา  ถึงแม้จะประสบความลำบากสักเพียงใดก็ตาม ก็จะไม่ทอดทิ้งลูก กลับคอยป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ไม่ให้เกิดแก่ลูก เมื่อมีเหตุสุดวิสัยที่จะป้องกันได้ เช่นเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย พ่อแม่ก็พยายามทำการรักษา พยาบาลด้วยตัวเอง  หาหมอมารักษาเพื่อให้ลูกปลอดภัย   บางครั้งพ่อแม่ต้องทำงานหนัก เพื่อต้องการให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียน มีความรู้ ความฉลาดเท่าทันคนอื่น  เพื่อในอนาคตจะสามารถเติบโตและเลี้ยงดูตัวเองได้
พ่อแม่ ยังมีจิตใจที่ประกอบด้วยคุณธรรม คือ พรหมวิหารธรรม 4 ประการ อันได้แก่ เมตตา ความรักใคร่สนิทสนม   กรุณา ความปรานี สงสารในเมื่อมีความทุกข์เดือดร้อน มุทิตา พลอยยินดีในความสำเร็จของลูกด้วยความจริงใจ และอุเบกขา ความวางเฉยในเมื่อลูกมีการงานทำ สามารถเลี้ยงตนและครอบครัวได้
เมื่อลูกเจริญเติบโตจะต้องทดแทนบุญคุณของพ่อแม่   พ่อแม่บางคนไม่ลำบากยากจนถึงต้องอาศัยลูกเลี้ยงทางกาย  แต่ก็ยังต้องการให้ลูก เลี้ยงทางใจ   เช่น เชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านทำให้ท่านสบายใจ   สร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล ไม่สร้างปัญหาต่างๆ เช่นการติดยาเสพติด  การติดการพนัน
ดังนั้น  ลูกๆ ทุกคนต้องหมั่นขยันทำตนให้เจริญด้วยวิชาความรู้และทรัพย์สิน เงินทอง คราวท่านเจ็บไข้ได้ป่วยก็เอาใจใส่รักษาพยาบาล   หมั่นไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ   ช่วยพ่อแม่ทำกิจการงานตามกำลังความสามารถ เพื่อเป็นการฝึกฝนตัวเองไปด้วย   การที่ลูกเอาใจใส่ปรนนิบัติพ่อแม่อย่างดีแสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นต้องมีความกตัญญูกตเวทีเป็นหลัก    ถ้าขาดคุณธรรมข้อนี้แล้วก็ไม่สามารถทำได้เพราะฉะนั้นผู้ปรารถนาจะให้ลูกตนเองปฏิบัติดีแก่ตนเองในอนาคตอย่างไรก็จงปฏิบัติต่อพ่อแม่ของตนอย่างนั้น เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกต่อไปเพราะพ่อแม่เปรียบเสมือน “คุณครู”  คนแรกของลูกซึ่งเราทุกคนจะต้องรักและเคารพดูแลท่านเป็นอย่างดีที่สุดที่ลูกทุกคนสมควรที่จะกระทำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น